บาร์โค้ดมีกี่แบบ กี่ประเภท
เทคโนโลยี บาร์โค้ด หรือ รหัสแท่ง นับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจปัจจุบันต่างๆ มากมาย เป็นเครื่องหมายแทนข้อมูลที่อ่านได้ด้วยแสง (optical machine-readable) ช่วยให้ทำงานกับระบบหรือสินค้า ที่มีความซับซ้อนและปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันมีการใช้งานกันอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ บาร์โค้ดชิงเส้น หรือ บาร์โค้ดหนึ่งมิติ (1D) และอีกรูปที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นแบบเป็นจุด สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม และรูปแบบทางเรขาคณิตอื่น ๆ เรียกว่า บาร์โค้ดสองมิติ (2D) มาลองดูมาตรฐานบาร์โค้ดในปัจจุบัน ที่มีการใช้งานแพร่หลาย ว่ามีแบบไหนบ้าง
Code 39
เป็นมาตรฐานที่เก่าแก่ที่สุดอันนึงของระบบบาร์โค้ด ส่วนใหญ่พบเห็นได้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และใช้งานในหน่วยงานรัฐฯ เป็นประเภท Lineal แบบ 1D เป็นโค้ดที่สามารถบรรจุข้อมูลได้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข (Alphanumeric Code) รองรับชุดตัวอักษร 128 ASCII สามารถขยายความยาวเพิ่มได้เรื่อยๆ แต่ถ้าหากว่าพื้นที่จำกัดแล้วข้อมูลเยอะ สามารถใช้เป็น Code 128 แทน
Code 128
คล้ายกันกับแบบ Code 39 แต่ว่าจะมีขนาดแถบบาร์โค้ดที่เล็กกว่า รองรับชุดตัวอักษร 128 ASCII มีฟีเจอร์ Automatic Switching Setting ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งความยาวของบาร์โค้ดได้
Interleaved 2 of 5
เป็นชนิดที่ใช้งานมากในอุตสาหกรรมคลังสินค้า, ขนส่ง และโรงงานผลิต เป็นบาร์โค้ดที่จุได้เฉพาะข้อมูลตัวเลขเท่านั้น ใช้สำหรับเข้ารหัสชุดตัวเลขแบบคู่ ในทุกๆ ตัวเลข 2 หลัก จะสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมา 1 ตัว ต้องมีจำนวนตัวเลขลงให้ครบเป็นหลักคู่ ถ้าหลักตัวเลขคี่ ก็มักจะเติม 0 เข้าไปให้เต็มเป็นหลักคู่
Universal Product Codes (UPC)
พบได้ในสินค้าปลีกทุกประเภท เป็นบาร์โค้ดที่ถูกคิดค้นขึ้นมาสำหรับใช้ในร้านสะดวกซื้อ สำหรับการพิมพ์ใบเสร็จที่รวดเร็ว และใช้เพื่อนับจำนวนสินค้าในสต็อกของร้าน หลังจากที่ลงทะเบียนขอบาร์โค้ดมาแล้ว ผู้ผลิตสินค้าจะได้ชุดตัวเลขเฉพาะของตัวเองมา สำหรับใช้พิมพ์ติดลงไปที่สินค้าได้เลย สินค้าแต่ละตัวก็จะมีรหัสเฉพาะของตัวนั้นๆ
International Article Number (EAN)
International Article Number หรืออีกชื่อว่า European Article Number เรียกกันย่อ ๆ ว่า EAN เป็นมาตรฐานสัญลักษณ์บาร์โค้ดที่บรรจุข้อมูลชุดตัวเลข ใช้สำหรับการซื้อขายสินค้าทั่วโลก เพื่อระบุชนิดหรือประเภทสินค้านั้น ๆ กำหนดโดยองค์กรที่ชื่อว่า GS1
มาตรฐานที่ใช้งานกันมากที่สุดคือ EAN-13 ที่จะมีชุดตัวเลขทั้งหมด 13 หลัก โดยจะมีตัวแรกสุดที่อยู่ในตำแหน่งนอกเส้นบาร์โค้ด
PDF417
เปลี่ยนจากแบบแถวเดียว 1D มาเป็นแบบใหม่ 2D ที่จุข้อมูลได้เยอะขึ้นกันบ้าง มาตรฐานนี้ใช้กันมากในข้อมูลยืนยันตัวตน อย่างเช่นบนใบขับขี่ มีใช้งานในไปรษณีย์ของสหรัฐอเมริกา และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ สามารถบรรจุข้อมูลได้จำนวนมาก แต่จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าบาร์โค้ด 2D ตัวอื่นๆ
Data Matrix
เป็นมาตรฐานที่ใช้งานเป็นหลัก สำหรับบาร์โค้ดแบบ 2D มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สามารถบรรจุข้อมูลได้จำนวนมาก โดยใช้พื้นที่น้อย เป็นที่นิยมใช้ในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ระบบ 2D จำเป็นต้องใช้ตัวอ่าน Scanner เฉพาะที่รองรับด้วย สามารถอ่านได้จากกล้องมือถือ
Quick Response (QR) Codes
นับเป็นเทรนด์บาร์โค้ดใหม่ล่าสุด ที่มีการใช้งานแพร่หลายเป็นวงกว้าง เรียกกันสั้นๆ ว่า QR Codes นอกเหนือจากการใช้งานในอุตสาหกรรมเดิมๆ ยังมีการนำเอามาใช้เพื่องานด้านการตลาดด้วย แม้ว่าจะไม่ได้มีขนาดเล็กเท่ากับ Data Matrix สามารถบรรจุข้อมูลลิงก์เว็บไซต์ลงไปได้ มักจะพบเห็นได้ตามป้ายโฆษณาต่างๆ หรือตามหน้าร้าน สำหรับใช้ดูข้อมูลโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ และข้อมูลของร้าน หรือองค์กร
ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า และอุตสาหกรรม
ถือว่าแต่ละรูปแบบนั้น ก็มีความสะดวกในการใช้งาน และความจุในการเก็บข้อมูลได้ไม่เท่ากัน ก็แตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งานของตัวสินค้า หรืออุปกรณ์ที่จะนำเอาไปใช้ร่วม และประเภทของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ที่จะใช้กัน ความนิยมในการใช้งานที่แพร่หลาย หรือกลุ่มประเทศที่ต้องใช้งานร่วมด้วยก็แตกต่างกันออกไป ถือเป็นข้อมูลให้ได้เก็บกันเพิ่มเติม และนำเอาไปเลือกปรับใช้กันได้ตามธุรกิจของคุณ